Digio สตาร์ตอัพฟินเทค เปิดใจ 13 ปีแห่งความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่ายพร้อมเปิดประสบการณ์แนะแนวทางสำเร็จให้คนรุ่นใหม่และข้อควรระวังของวงการสตาร์ตอัพ

Digio สตาร์ตอัพฟินเทค เปิดใจ 13 ปีแห่งความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่ายพร้อมเปิดประสบการณ์แนะแนวทางสำเร็จให้คนรุ่นใหม่และข้อควรระวังของวงการสตาร์ตอัพ

นายนพพร ด่านชัยนาม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิโอ (ประเทศไทย) จำกัด (Digio) สตาร์ตอัพฟินเทค ผู้พัฒนาและให้บริการระบบชำระเงินแบบเบ็ดเสร็จ แก่สถาบันการเงินหรือธุรกิจที่ต้องการมีระบบชำระเงินเป็นของตนเอง รวมถึงให้บริการระบบการรับชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile point of sale : mPOS) แก่สถาบันการเงิน เจ้าแรกในไทย และ ภูมิภาคเอเชีย เปิดเผยว่า Digio จะก้าวขึ้นสู่ปีที่ 13 ในปี2568 ซึ่งการประกอบธุรกิจมาเป็นระยะเวลา 13 ปี ถือเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถของบริษัทที่เริ่มก่อตั้งในรูปแบบของสตาร์ตอัพ ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ถือแม้ว่าระยะเวลา 13 ปีนี้ จะยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเมื่อเทียบกับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานผ่านการบริหารรุ่นสู่รุ่น แต่ก้าวแห่งความสำเร็จของ Digio ในครั้งนี้ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยง่าย ต้องผ่านการพิสูจน์ตัวตนครั้งแล้วครั้งเล่า จึงพร้อมที่จะเป็นอีกหนึ่งแห่งที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดในการก่อตั้งธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปพร้อมกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเท่าทัน

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างธุรกิจในรูปแบบสตาร์ตอัพนั้น ก่อนอื่นมีคำแนะนำให้ทำการศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ให้รอบด้านเพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างไม่สะดุด โดยสตาร์ตอัพ คือ การเรียกถึงกลุ่มคนทำธุรกิจที่กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เน้นเรื่องของการทำให้ธุรกิจขยายและเติบโตได้อย่างรวดเร็ว กว่าปกติมาก ๆ ซึ่งจะแตกต่างจาก SME ที่เน้นการทำธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งสตาร์ตอัพมีจุดเริ่มต้นเพื่อพัฒนาไปสู่ขั้นตอนแห่งความสำเร็จ ดังต่อไปนี้

1.          ช่วงกำลังพัฒนาไอเดีย ให้เป็นสินค้า บริการ เพื่อหาโอกาสการทำธุรกิจ ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่เน้นการใช้ความรู้ความสามารถและการทดลองถึงการนำแนวคิดนั้นมาต่อยอดให้เกิดขึ้นได้จริง

2.          ช่วงระดมทุน มองหาเงินทุนเพื่อเอาไปทดสอบไอเดีย ว่าสามารถทำเป็นธุรกิจ มีกำไรได้จริงในอนาคต การระดมทุนในช่วงแรกนั้น ส่วนมากจะระดมทุนจากเพื่อนฝูง คนรู้จัก หรือครอบครัว (FFF : Family, Friends, Fools) เพื่อใช้เป็นเงินตั้งต้นในการเริ่มธุรกิจ

3.          ช่วงขยายต่อธุรกิจให้มีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ธุรกิจกำลังขยายตัว ต้องใช้เงินจำนวนมาก เป็นหลักล้าน หรือบางรายอาจจะต้องใช้เงินทุนไปถึงระดับร้อยล้าน จะเริ่มมีการระดมทุนจากกองทุนร่วมลงทุน (VC :Venture Capitalist ) เป็นกองทุนที่รวบรวมเงินลงทุนมาจากผู้ลงทุนอื่น ๆ ที่สนใจร่วมทุน หรือบริษัทพันธมิตร ที่เกี่ยวข้อง และเมื่อมีการระดมเงินทุนมากกว่า 1 ครั้งจะเรียกเป็น Series เช่น A, B, C เพื่อบ่งของถึงจำนวนรอบของการระดมทุน

4.          ก้าวสู่บริษัทมหาชน เมื่อธุรกิจเริ่มมีกำไร หรือต้องการย้ายจากบริษัทจำกัด ไปสู่บริษัทมหาชน ก็จะก้าวไปถึงขั้นตอนของการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อทำการระดมทุนจากประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งประเทศมีโอกาสเข้ามาถือหุ้นของบริษัทผ่านกลไกลตลาดทุนที่มีความน่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ดีการที่คนรุ่นใหม่ที่เข้าถึงเทคโนโลยีและสามารถเกิดแนวคิดใหม่ๆเพื่อต่อยอดเป็นธุรกิจและเติบโตอย่างรวดเร็ว การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อระดมทุนให้ได้จำนวนมากนั้นถือเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยให้เติบโตและสร้างความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วที่นิยมกันอย่างมาก แต่จะต้องตระหนักว่าทุกครั้งว่าเงินทุนที่ระดมทุนมาได้นั้นที่ไม่ใช่ของตนเองไม่ว่าจะมาจากคนใกล้ตัว หรือบุคคลภายนอก หรือสถาบันการเงินขนาดใหญ่ เราจำเป็นต้องแน่ใจว่าเรามีความเข้าใจทั้งสองฝั่งทั้งผู้ลงทุนและผู้รับเงินทุน ความคาดหวัง รวมถึงกรณีที่เกิดเหตุที่ไม่เป็นไปตามที่วางแผนเอาไว้ ควรศึกษาถึงเงื่อนไขจากผู้ที่เข้าร่วมเพิ่มทุนให้อย่างละเอียดโดยเฉพาะเอกสารสัญญา เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาในอนาคต

“ส่วนใหญ่ผู้ก่อตั้งธุรกิจในแบบสตาร์ตอัพจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่ยังมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจไม่มาก แต่มีความมุ่งมั่นและมีไฟในการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างเต็มเปี่ยม ทุกครั้งที่สามารถระดมทุนได้จะเกิดความตื่นเต้น จนอาจจะไม่ทันได้ระวังในการอ่านเอกสารสัญญาให้ละเอียดรอบคอบ เพราะที่ผ่านมา มีบางรายที่เจอกับการเพิ่มทุนที่มี Put option ในสัญญาการลงทุน ซึ่งคือสิทธิ์ที่ให้ผู้ถือสิทธิ์ (Investor) เช่น หุ้น มีสิทธิ์ขายสินทรัพย์ ในราคาที่กำหนด เพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือสิทธิ์ (Investor) เช่น ป้องกันการขาดทุน หากราคาหุ้นลดลง ผู้ถือสิทธิ์สามารถใช้ Put option เพื่อขายหุ้น ป้องกันการขาดทุนได้ หรือบางกรณีหากบริษัทขาดทุน หรือ ปิดกิจการ กองทุนที่เข้ามาเพิ่มทุนอาจจะเขียนสัญญาให้กลุ่มผู้ก่อตั้งชดใช้เงินเพิ่มทุนเต็มจำนวนพร้อมค่าชดเชยอื่น ๆ ทุกครั้งที่ลงนามในเอกสารต้องตรวจสอบให้เกิดความเข้าใจในตนเอง ผู้ลงทุน ให้เกิดความเข้าใจตรงกัน รวมถึงการลงนามเอกสารสัญญาทางกฎหมายจำเป็นต้องมีความรอบคอบและมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ รวมถึงการถามคำถามสำคัญอย่าง Hard Questions หรือคือ การถามให้รอบด้านและรอบคอบ คำนึงถึงผลประโยชน์ และ ผลกระทบทั้งหลายเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะไม่คาดคิดในอนาคต”

อย่างไรก็ดีหากคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเริ่มต้นในการเป็นสตาร์ตอัพสามารถ เข้าไปรับคำปรึกษาจากสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup Association) รวมถึงสมาคมผู้ประกอบธุรกิจร่วมลงทุน (TVCA Thai Venture Capital Association) เพื่อให้คำปรึกษาในการเริ่มต้นธุรกิจรวมถึงช่วยคัดกรองในกลุ่มสตาร์ตอัพที่กำลังมองหาเงินทุน

 

ข่าวเกี่ยวข้อง